วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

๑๘/๘/๕๔ ครบรอบ ๒ ปี แห่งการจากไปอยา่งไม่มีวันกลับของแม่ใหญ่อีกแล้วนะ แต่แม่ใหญ่ก็จะอยู่ในใจลูกเสมอ รักที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ครบรอบ 1 ปี การจากไปของครูมณฑิตย์สา

18 ส.ค. 52

มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากที่กว่าจะผ่านไปได้ซักนาทีตั้งแต่ที่รู้ว่าแม่จากไป มันอาจจะเน่าแต่ในความเป็นจริงแล้วภาพความทรงจำทุกอย่างมันย้อนเข้ามา มันย้อนกลับมาทุกอย่างที่เคยทำร่วมกับแม่ แม่ไมเคยนอนก่อนเที่ยงคืน ไม่เคยกลับเข้าบ้านก่อนตะวันตกดิน แม้กระทั่งแม่ป่วย แม่ก็พยายามทำทุกอย่างโดยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ทั้งหน้าที่ครูในโรงเรียน ในชุมชน ก่อนแม่จะจากไป แม่สั่งเสียไว้มากมาย หลายเรื่อง แต่พอนาทีสุดท้ายแม่พูดว่า "แม่ไปแล้วนะ"แล้วแม่ก็ไปจริงๆไปโดยไม่กลับมา....



1 ปีต่อมา.....



....แม่ใหญ่จ๋า แม่รู้มั้ย ลูกคิดถึงแม่มากที่สุด ทุกครั้งที่ไปในที่ที่เคยไปกับแม่ ดูรูป ไปบ้านแม่ ลูกร้องไห้ทุกครั้ง ในช่วงที่ลูกมีปัญหาลูกนึกถึงแม่ตลอดเวลา เมื่อตอนแม่มีชีวิตอยู่แม่คอยแก้ปัญหา เป็นที่ปรึกษาให้ลูกตอนนี้ลูกยังอยากมีแม่ใหญ่คอยอยู่ใกล้ๆๆๆ อยู่กับลูก



...นี่อีกไม่กี่วันก็จะครบปีแล้วนะที่แม่จากไป วันที่ 14 ส.ค. นี้แม่จะอายุครบ 54 ปี วันที่ 18 ส.ค. ครบรอบวันจากไปของแม่ วันที่ 19 ส.ค. วันเกิดหนู แม่จ๋าทุกปีเราจะทำบุญด้วยกัน เลี้ยงอาหารเด็ก เลี้ยงขนมเด็กๆทุกปี ปีนี้หนูต้องทำคนเดียว หนูจะทำให้แม่ด้วย............



หนูรักแม่มากนะ



ลูกสาวของแม่

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รำโทนโพหักกลับฟื้นโดยครูหรั่ง

รำโทน(โพหัก)
รำโทน(โพหัก) เป็นการแสดงพื้นบ้านหรือการละเล่นพื้นบ้าน ของชุมชนบ้านโพหัก ตำบล โพหัก อำเภอ บางแพ จังหวัด ราชบุรี ซึ่งการละเล่นนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ลักษณะการเล่น จะมีผู้แสดงดังนี้
1. มีพ่อเพลง แม่เพลง ร้องเพลง
2. มีเครื่องดนตรี คือ โทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ประกอบจังหวะในการร้องเพลง
3. ผู้แสดง ชาย - หญิง รำกันเป็นคู่ ๆ เดินรำกันเป็นวง
รำโทน(โพหัก) จะมีลักษณะโดดเด่น การรำจะไม่เหมือนรำโทนทั่วไปก็ตรงที่ผู้รำ
จะรำตามท่าทางของเนื้อเพลง โดยคู่ชาย –หญิง จะรำเกี้ยวพาราสีกัน หยอกล้อกัน โดยแสดงออกทางสีหน้าท่าทางให้ผู้ชมเห็นได้ชัด และเนื้อเพลงที่ร้อง ก็จะเป็นเพลงที่บรรพชนของคนโพหักแต่งเอาไว้ โดยเนื้อเพลงจะเป็นเอกลักษณ์ของเฉพาะถิ่น ไม่เหมือนกับเพลงที่ไหน เนื้อเพลงจะแต่งจากการอ้างอิงจากธรรมชาติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
รำโทน(โพหัก) ได้หายไปประมาณ 50 ปี อาจจะเนื่องด้วยความเจริญของบ้านเมือง และมีการละเล่นอื่นมีมากขึ้น ทำให้เพลงรำโทนหายไป
อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ครู โรงเรียนชุมชนวัดใหญ่โพหัก ซึ่งเป็นลูกเกิดโพหัก
ได้ทำการขุดค้น ศึกษาหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอจำเรื่องราวได้ และรวบรวมเนื้อเพลงรำโทนมาฝึกร้องฝึกรำ โดยใช้กลุ่มผู้สูงอายุโพหัก ทำให้เพลงรำโทนโพหักได้กลับฟื้นคืนมา ในปี พ.ศ.2534 และได้นำแสดงในงานเที่ยวราชบุรี ปี 2001 ได้รับการตอบรับจากผู้ชม และจากสถาบันการศึกษาให้ความสนใจ สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ให้มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง มาถ่ายทำเป็น วี.ดี.โอ ต่อจากนั้นก็ได้นำไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง รวมถึงสื่อมวลชนต่าง ๆ มาให้ความสนใจ ขอถ่ายทำเป็นสารคดีออก ที.วี. ทุกช่อง
อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ เริ่มฝึกตั้งผู้สูงอายุ จนถึงเด็ก รวมทั้งชาวบ้าน ทั้ง 11 หมู่บ้าน ในตำบล โพหัก ได้ฝึกรำโทนกันหมด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์มณฑิตย์สา มั่นฤกษ์ ได้ริเริ่มจัดงานฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นถิ่น และมีการประกวดรำโทนในหมู่บ้าน ทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของเรานั้น เพราะในปัจจุบันหลายชุมชนที่มีวัฒนธรรมพื้นบ้านแต่ขาดผู้สืบสาน ซึ่งทำให้วัฒนธรรมเหล่านั้นได้จางหายไปกับผู้สูงอายุ ขาดการสานต่อ ในการถ่ายทอดให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่สุดเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินตรา แต่ได้มาจากความรักและความหวงแหนในถิ่นกำเนิดของตน วัฒนธรรมเหล่านี้จึงจะสามารถอยู่และไม่จางหายไป